อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

         ท่านกล่าวไว้ในบาลีว่า  “อเนกสหสฺสา”  แปลว่า  การเจริญวิปัสสนานั้นมีประโยชน์  มีอานิสงส์หลายร้อยหลายพัน  จนไม่สามารถจะนับ  หรือจะประมาณได้  ดังนั้น  จึงขอยกมาเป็นบางข้อ

         ๑.      ทำให้นักปฏิบัติเข้าใจธรรมะทั้งด้านปริยัติ  และด้านปฏิบัติได้ดี  ละเอียดลออยิ่งขึ้น  เช่น  เข้าใจคำว่า  รูป  นาม  พระไตรลักษณ์  มรรค  ผล  เป็นต้น  ดีขึ้นกว่าผู้ไม่ได้เข้าปฏิบัติหลายเท่า

         ๒.      ทำให้มีกำลังใจเข้มแข็ง  มีความขยัน  อดทน  ประหยัด  พัฒนา  ลดปัญหาชีวิตได้ทุกอย่าง

         ๓.      ทำให้อธิบายธรรมะได้ดีขึ้น  ละเอียด  สุขุมขึ้นกว่าเดิม  สามารถอธิบายได้ทั้งปริยัติ  ปฏิบัติ  ปฏิเวธ

         ๔.      เป็นมหากุศล  เป็นบุญทุกขณะที่ลงมือปฏิบัติ  หรือลงมือสอนผู้อื่น  แนะนำผู้อื่น

           ๕.       เป็นคนไม่ประมาท  ได้บำเพ็ญศีล  สมาธิ  ปัญญา  ตามพระพุทธโอวาท

         ๖.      ได้เดินทางสายกลาง  คือ  มรรค  ๘

         ๗.      ได้เดินทางสายเอก  คือ  หนึ่งไม่มีสอง

         ๘.      ได้บำเพ็ญบารมี  ทำให้รู้จักปรมัตถธรรม  ฯลฯ

         ๙.      ทำให้คนเป็นพระ  เป็นพระอริยะ

         ๑๐.    ทำให้เป็นคนมีเมตตา  มีความกตัญญู  และทำให้มีกาย  วาจา  ใจ  บริสุทธิ์  อ่อนน้อม  เยือกเย็น

         ๑๑.    ทำให้ได้รับความสุข  ๗  ประการ  คือ สุขในมนุษย์  สุขในสวรรค์  สุขในฌาน  สุขในวิปัสสา  สุขในมรรค  สุขในผล  สุขในพระนิพพาน       ตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตนๆ

         ๑๒.    ทำคนให้ได้บรรลุมรรค  ผล  นิพพาน  เป็นปริโยสาน

         ๑๓.  ถึงปฏิบัติได้แค่ญาณ  ๑ – ๒  คือเพียงอยู่ขั้นต้นๆ หรือญาณต่ำๆ ถ้าพยายามรักษาไว้ได้  หรือปฏิบัติต่อๆ ไปก็จะสามารถป้องกันภัยในอบายภูมิได้  ดังมีหลักฐานรับรองไว้ใน  วิสุทธิมรรค  ภาค  ๓ ว่า
         “อิมินา  ปน ญาเณน  สมนฺนาคโต วิปสฺสโก พุทฺธสาสเน         ลทฺธสฺสาโส  ลทฺธปติฏฺโฐ  นิยคติโก  จูฬโสตาปนฺโน  นาม  โหติ” 

         ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนถึงญาณที่  ๒  คือ  ปัจจยปริคคหญาณนี้แล้ว  ได้ความเบาใจในพระพุทธศาสนา  ได้ที่พึ่งที่ระลึกในพระพุทธศาสนา  มีคติอันเที่ยง  ตายแล้วไม่ไปสู่อบายภูมิ  ที่ชื่อว่า        “จูฬโสดาบัน” หมายความว่า เป็นผู้เข้าสู่กระแสพระนิพพานน้อยๆ เป็นผู้เดินทางถูกแล้ว

         ๑๔.  ถ้าปฏิบัติถึงญาณที่  ๔  คือ  อุทยัพพยญาณ  ก็จะเห็นรูปนาม  เห็นความเกิด  ดับ  เห็นพระไตรลักษณ์  ชัด  ๕๐  %  ชื่อว่าเป็นผู้มีชีวิตอันประเสริฐ  ถึงจะตายเสียในวันนั้นก็ยังดีกว่าบุคคลผู้ไม่ได้ปฏิบัติ 
แต่มีชีวิตเป็นอยู่ได้ตั้ง  ๑๐๐  ปี  ดังที่มีหลักฐานรับรองไว้  ปรากฏอยู่       ในพระไตรปิฎก  เล่มที่  ๒๕  หน้าที่  ๓๐  ว่า 

         “โย  จ  วสฺสสตํ  ชีเว  อปสฺสํ  อุทยพฺพยํ  เอกาหํ  ชีวิตํ  เสยฺโย  ปสฺสโต  อุทยพฺพยํ” 

         ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน  ถึงญาณที่  ๔  คือ  อุทยัพพยญาณ 
เห็นความเกิดดับของรูปนาม  ถึงแม้จะมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันเดียว ก็ชื่อว่าประเสริฐกว่าบุคคลผู้ที่ แม้มีชีวิตอยู่ได้ตั้ง  ๑๐๐  ปี แต่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม  ดังนี้

         ๑๕.  ถ้าชาตินี้ยังไม่ได้สำเร็จมรรค  ผล  นิพพาน  ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานในชาติต่อไป  คือ

         ถ้าเจริญวิปัสสนาในปฐมวัย  คือ  ตั้งแต่อายุ  ๗  ขวบ  ถึง  ๒๕  ปี  แต่ไม่สำเร็จก็จะเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จในมัชฌิมวัย  คือ  ตั้งแต่อายุ  ๒๕  ปี  ถึง  ๕๐  ปี

         ถ้าไม่สำเร็จในมัชฌิมวัยนี้  ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จในปัจฉิมวัย  คือ  ตั้งแต่อายุ  ๕๑ – ๗๕  ปี

         ถ้าไม่สำเร็จในปัจฉิมวัยนี้  ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จในมรณะสมัย  คือ  ในเวลาใกล้ตาย

         ถ้าไม่สำเร็จในเวลาใกล้ตาย  ก็จะเป็นปัจจัยให้ใจบริสุทธิ์  แล้วไปเกิดในสวรรค์  สมดังบาลีว่า 

         “จิตฺเต  อสงฺกิลิฏฺเฐ  สุคติ  ปาฏิกงฺขา” 

         เมื่อใจไม่เศร้าหมอง  คือ  ใจบริสุทธิ์แล้ว  สุคติก็เป็นอันหวังได้  ดังนี้  และจะได้สำเร็จบนสวรรค์โน้น

         ถ้ายังไม่ได้สำเร็จบนสวรรค์โน้น  ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้ฟังธรรมก่อนที่จะหมดศาสนา  พระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายจะได้มารวมกันเป็นองค์พระพุทธเจ้า  ทรงแสดงธรรมอยู่  ๗  วัน  ๗  คืน  ก็จะได้มีโอกาสมาฟังธรรม  ปฏิบัติธรรมในสมัยนั้น  แล้วจะได้สำเร็จมรรค  ผล  นิพพาน  ในตอนนั้น

         ถ้าหากยังไม่ได้สำเร็จในตอนนั้น   ก็จะได้เกิดทันศาสนาของ         พระศรีอริยเมตไตร  จะได้ฟังธรรมต่อพระพักตร์ของพระองค์  แล้วได้สำเร็จมรรค  ผล  นิพพาน  โดยเร็วพลันที่สุด  เหมือน  พาหิยทารุจิริยะ  เป็นต้น

         ถ้าไม่ได้พบพระศรีอริยเมตไตร  หรือสาวกของพระศรีอริยเมตไตร     ก็จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้มรรค ผล นิพพานด้วยตนเอง  ดังนี้

         ๑๖.  ชื่อว่าได้เห็นพระพุทธเจ้า  เพราะได้เห็นธรรม  สมดังที่ตรัสกับพระวักกลิ  ว่า 

         “โย  โข  วกฺกลิ  ธมฺมํ  ปสฺสติ  โส  มํ  ปสฺสติ  โย  มํ  ปสฺสติ  โส  ธมฺมํ  ปสฺสติ”

          ดูก่อนวักกลิ  ผู้ใดเห็นธรรม  ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา  ผู้ใดเห็นเรา  ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม  ดังนี้

         ๑๗.  ชื่อว่าได้บำเพ็ญกองกุศลอันยิ่งใหญ่ไพศาลทีเดียว  ข้อนี้มีพระบาลีซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก  เล่มที่  ๓  ว่า 

         “กุสลราสีติ  ภิกฺขเว  วทมาโน  จตฺตาโร  สติปฏฐาเน  สมฺมา    วทมาโน  วเทยฺย” 

         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เมื่อจะกล่าวว่ากองแห่งกุศล  จะต้องกล่าวถึงสติปัฏฐาน  ๔  จึงจะชื่อว่ากล่าวถูกต้อง 

         “เกวโล  หายํ  ภิกฺขเว  กุสลราสิ  ยทิทํ  จตฺตาโร  สติปฏฺฐานา”      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  กองกุศลล้วนๆ นี้  ได้แก่สติปัฏฐาน  ๔  ดังนี้

         ๑๘.  ชื่อว่าได้ตัง  เวมติกังขา  คือ  ข้อข้องใจ  สงสัยของตัวเอง  ซึ่งได้เคยสงสัยว่า  สมัยนี้  มรรค  ผล  นิพพาน  จะมีอยู่หรือไม่หนอ  ซึ่งสอดคล้องต้องตามพระบาลีที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก  เล่มที่  ๑๐  ว่า 

         “อิมสฺมิญฺจ  โข  สุภทฺท  ธมฺมวินเย  อริโย  อฏฺฐงฺคิโก  มคฺโค  อุปลพฺภติ  สมโณปิ  ตตฺถ  อุปลพฺภติ  ฯลฯ  อิเม  จ  สุภทฺท  ภิกฺขู       สมฺมา  วิหเรยฺยุํ  อสุญฺโญ  โลโก  อรหนฺเตหิ  อสฺส” 

         ดูก่อนสุภัททะ  ในพระธรรมวินัยนี้  ถ้ายังมีอัฏฐังคิกมรรค
อันประเสริฐอยู่ตราบใด  แม้พระโสดาบัน  พระสกิทาคามี  พระอนาคามี      พระอรหันต์  ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น  ฯลฯ  ดูก่อนสุภัททะ  ถ้าภิกษุทั้งหลายพึงพากันประพฤติอยู่โดยชอบ  โลกก็ไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย  ดังนี้

         พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวรับรองไว้ในคัมภีร์  สุมังคลาวิลาสินี     อัฏฐกถาทีฆนิกาย  ปาฏิกวรรค  ภาค ๓ หน้า ๑๑๑ – ๑๑๒ บรรทัดที่ ๑ – ๒ ว่า

                    ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ  วสฺสสหสฺสํ  อฏฺฐาสิ ฯ  พันปีที่ ๑ เป็นยุคของ  พระอรหันต์ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณ ๔

                    ฉฬภิญฺเญหิ  วสฺสสหสฺสํ ฯ พันปีที่ ๒ เป็นยุคของพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖

                    เตวิชเชหิ  วสฺสสหสฺสํ ฯ พันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชาสาม

                    สุกฺขวิปสฺสเกหิ  วสฺสสหสฺสํ ฯ  พันปีที่ ๔ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน (บรรลุคุณธรรมโดยแห้งแล้ง ไม่มีคุณวิเศษอะไร เพียงแต่ตัดกิเลสขาด) 

                    ปาฏิโมกฺเขหิ  วสฺสสหสฺสํ  อฏฺฐาสิ ฯ  พันปีที่ ๕ เป็นยุคของพระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน ดังนี้ฯ

         ๑๙.    ชื่อว่าเราได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ทั้ง  ๓  ปิฏก  ดังหลักฐานอยู่ในธรรมบทภาค  ๒   ว่า  

         “สกลํปิ  หิ  เตปิฏกํ  พุทฺธวจนํ  อาหริตฺวา  กถิยมานํ อปฺปมาทเมว  โอตรติ” 

         จริงอยู่  พระพุทธพจน์ทั้ง  ๓  ปิฏก  แม้ทั้งสิ้น  คือ  ไม่เหลือเลยสักตัวเดียว  ย่อมรวมลงสุ่จุดเดียว  คือ  “ความไม่ประมาท” 

         “โส  ปเนส  อตฺถโต  สติยา  อวิปฺปวาโส  นาม”  ก็อันความไม่ประมาทนี้นั้น  โดยใจความก็ได้แก่การไม่อยู่ปราศจากสติ  คนมีสติก็        คือคนเจริญสติปัฏฐาน  ๔  และคนเจริญสติปัฏฐาน  ๔  ก็คือคนเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง